ชิปปิ้ง มาตรการ IMO2020 กับการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งทางเรือ

ชิปปิ้ง มาตรการ IMO2020 หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า IMO มาบ้าง แล้วรู้หรือไม่ว่า IMO คืออะไร?  

Red Logistics จะมาสรุปแบบเข้าใจง่ายๆ IMO คือองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ

(International Maritime Organization : IMO)

เป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมการจัดส่งสินค้า ชิปปิ้ง และเป็นเวทีกลางระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ในปีหน้านี้ IMO จะเริ่มมาตรการ IMO2020 โดยมีการบังคับให้เรือทุกลำกว่า 5 หมื่นลำทั่วโลก ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ หรือกำมะถันให้เหลือ 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5% เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2020 ซึ่งจะมีผลทำให้เรือจำนวนมากต้องเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตา ที่มีกำมะถันสูง ( Hight Sulfur Fuel Oil : HSFO) มาเป็นน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำหรือไม่เกิน 0.5% (Low Sulfur Fuel Oil : LSFO) หรือเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือ ( Hight Speed Diesel / Marine Gas Oil : MGO) หรือน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นที่สะอาดกว่า เช่น LNG เป็นต้น

สำหรับเรือขนส่งชิปปิ้ง ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ LSFO (Low Sulfur Fuel Oil) หรือ MGO (Marine Gas Oil) นั้น จะมีผลทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อกำไรในระยะยาว เรือขนส่งจะต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิง LNG หรือติดตั้ง Scrubber (ระบบบำบัดอากาศ) เพื่อกำจัดกำมะถัน
ว่ากันว่า มาตรการ IMO2020 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดน้ำมันครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะการลดก๊าซซัลเฟอร์ จะส่งผลกระทบกับทุกห่วงโซ่ในตลาดน้ำมัน อาทิ ผู้ผลิตน้ำมัน เทรดเดอร์ ผู้ค้าปลีก ที่สำคัญคือเจ้าของเรือทั้งโลก หรือแม้แต่นักลงทุน
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำจะเริ่มปรับลดลงในปี 2021 – 2022 หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2020 ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ จะนำมาซึ่งผลกระทบอีกหลายประการ กล่าวคือ ‘ ผู้ส่งสินค้าจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับค่าธรรมเนียมน้ำมัน’
ส่วนผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจะหลีกเลี่ยงการใช้งานเรือขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตั้งระบบบำบัดอากาศเสียหรือใช้เครื่องยนต์รุ่นเก่า พื้นที่ระวางการบริการจะปรับลดลงจากการเลิกใช้เรือขนส่งที่ล้าสมัย และสายการเดินเรือที่ปรับตัวล่วงหน้าและติดตั้งใช้งานระบบบำบัดอากาศเสียในกองเรือจะมีความได้เปรียบเหนือผู้ให้บริการอื่นๆ

หุ้นไทยที่ได้ประโยชน์จากมาตรการ IMO2020

สำหรับมาตรการ IMO2020 นี้ พบว่ากลุ่มที่น่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มโรงกลั่น โดยหุ้นไทยออยล์ (Thai Oil : TOP) เช่น พีทีที (PTTGC), ไออาร์พีซี (IRPC) และบางจาก (BCP) จะได้รับประโยชน์มากที่สุด สืบเนื่องจากค่าการกลั่นที่สูงขึ้นในปี 2563 โดยกลุ่มโรงกลั่นจะสามารถเลือกยกระดับโรงกลั่นจากการปรับสัดส่วนของผลผลิต ที่ได้จากการกลั่นน้ำมัน โดยลดสัดส่วน HSFO และเพิ่มสัดส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่ม Middle Distillates
โรงกลั่นที่มีสัดส่วนการผลิตมากก็จะได้ประโยชน์มาก โดยในกลุ่มนี้ TOP จะได้ประโยชน์มากที่สุดเพราะสามารถผลิตน้ำมันชนิด Middle Distillates ได้สูงที่สุด ตามด้วยสตาร์ปิโตรเลียม หรือ SPRC ที่มีสถานะเป็นโรงกลั่นโดยเฉพาะ

ที่มา : ยุทธศาสตร์การลงทุนส่งเสริมสิ่งแวดล้อม คัดหุ้นไทยที่ได้ประโยชน์จากมาตรการ IMO2020